การศึกษาพฤติกรรมของสัตว์


การศึกษาพฤติกรรมของสัตว์
                พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสัตว์ต่างๆเกิดจากการประสานกันระหว่างระบบประสาท (nervous system)  ระบบกระดูก (skeletal system )  ตลอดจนระบบต่อมมีท่อ (exocrine  system )  และต่อมไร้ท่อ  (endocrine system)  แต่ละระบบต่างๆ  ของสัตว์แต่ละชนิดแตกต่างกันจึงมีผลพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นแตกต่างกัน  การศึกษาพฤติกรรมของสัตว์หรือวิชาพฤติกรรมศาสตร์ (ethology)  มีความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ 2  สาขา  คือ
                1. การศึกษาทางสรีรวิทยา  (physiological  approach)  มีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายพฤติกรรมในรูปแบบของกลไกการทำงานของระบบต่างๆ  ภายในร่างกาย
                2.การศึกษาทางจิตวิทยา  (psychological  approach)  เป็นการศึกษาถึงผลปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รอบตัว  และภายในร่างกายที่มีผลต่อการพัฒนาและการแสดงออกทางพฤติกรรมที่มองเห็นได้ชัดเจน
                นักพฤติกรรม  (ethologist)  ศึกษาพฤติกรรมเพื่อตอบคำถามว่า  พฤติกรรมนั้นมีสาเหตุจากอะไร  เพื่ออะไร  มีพัฒนาการและวิวัฒนาการมาอย่างไร  และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หรือไม่  โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้
                1.การสำรวจในธรรมชาติ  อาจทำไดโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับบันทึกการเคลื่อนไหวของสัตว์โดยไม่ให้สัตว์รู้ตัว  ซึ่งสามารถบันทึกพฤติกรรมได้ต่อเนื่องและนำมาวิเคราะห์ได้อย่างละเอียด  หรืออาจใช้เครื่องทรานซิสเตอร์ติดเข้ากับตัวสัตว์เพื่อบันทึกอุณหภูมิร่างกายหรืออัตราการเต้นของหัวใจ  เป็นต้น  นอกจากนี้อาจใช้วิธีจับสัตว์มาทำเครื่องหมายแล้วปล่อยเข้าสู่ธรรมชาติ  เช่น  การใช้ห่วงวงแหวนเป็นสีติดที่ขานก
                2.การศึกษาในห้องทดลอง  ส่วนใหญ่เป็นการทดลองเพื่อการศึกษาพื้นฐานของระบบประสาทในการแสดงพฤติกรรมแบบต่างๆ เช่น  การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองส่วนต่างๆ  เพื่อศึกษาว่าสมองส่วนใด  ควบคุมพฤติกรรมอะไร  หรืออาจใช้หุ่นจำลองเพื่อกาว่า  อะไรเป็นสิ่งเร้าหลักที่ทำให้สัตว์แสดงพฤติกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น